วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

Buddha

 

ศาสนาพุทธ 
มีหลักธรรมคำสอนที่เป็นแก่นแท้ที่สำคัญคือการสอนให้คิดรู้เท่าทันกฎธรรมชาติหรือความเป็นจริงโดยไม่ยึดติดทฤษฎี แต่เป็นการนำไปสู่การกำหนดแนวทางประพฤติปฏิบัติในชิวิตที่ถูกต้องดีงามและเหมาะสม ซึ่งเรียกโดยรวมว่า พุทธธรรม ที่มีลักษณะสำคัญ แบ่งได้ 2 อย่าง คือ มัชเฌธรรมเทศนา ที่หลักคำสอนเพื่อการจะเข้าใจความเป็นจริงตามธรรมชาติว่า ชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร และชีวิตเป็นไปอย่างไร เมื่อรู้และเข้าใจดังกล่าวแล้วจึงนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายชีวิตว่าเราเป็นบรรชิต หรือฆราวาส แล้วจึงกำหนดแนวทางการดำเนินของชิวิตควรเป็นอยู่อย่างไรหรือคือหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือแนวทางปฏิบัติสายกลาง เพื่อการบรรลุเป้าของชิวิตตนเอง ในการได้เกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ประเสริฐ เพื่อความเข้าใจหลักการเบื้องต้นตามแนวทางพุทธศาสนาที่มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออธิบายเนื้อหายึดตามความในหนังสือที่เป็นหลัก 2 เล่มคือ พุทธธรรม ฉบับเดิม และคู่มือมนุษย์ ดังมีรายละเอียดดังนี้
2.1.1 มัชเฌธรรมเทศนา หรือหลักความจริงสายกลาง ที่เป็นการแสดงความจริงตามแนวเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ หรือหลักสัจธรรม ที่นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น โดยการสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขและสังคมโลกที่มีสันติสุข โดยความเป็นจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ อธิบายได้ดังนี้
ชีวิตคืออะไร
พุทธธรรม มองเห็นสิ่งสิ่งต่างๆในรูปของส่วนประกอบต่างๆที่มาประชุมรวมกันเข้า ตัวตนแท้ๆของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆที่มาประกอบกันเข้านั้นออกหมดก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ เมื่อพุทธธรรมมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปการประชุมรวมกันของส่วนประกอบเช่นนี้ จึงอธิบายว่าองค์ประกอบของชีวิตจะแสดงแบบขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ คือ รูปเวทนาสัญญาสังขาร และวิญญาณ กล่าวคือ รูป ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมดทั้งร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง 5 และทางใจ สัญญา ได้แก่การความกำหนดได้ หรือรู้ความหมาย หรือหมายรู้คือรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆได้ สังขาร ได้แก่ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆของจิต ที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ โดยมีเจตนาเป็นตัวนำ พูดง่ายๆ คือความนึกคิดดีชั่วต่างๆ เช่น ศรัทธา สติ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โมหะ โทสะ โลภะ มานะ ทิฏฐิ เป็นต้น วิญญาณ ได้แก่ความรู้แจ้งทางอารมณ์ทางประสาททั้ง 5 และทางใจ คือ การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกายและการรู้อารมณ์ทางใจ
ชีวิตเป็นไปอย่างไร
หลักพุทธธรรม ที่ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมร่วมกันของส่วนประกอบนั้น แท้จริงแล้วสิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส เป็นไปตามกฎหรือสภาวะ อทัปปัจจยตา ที่แบ่งได้ 2 หมวด คือไตรลักษณ์ ที่มุ่งแสดงลักษณะของสิ่งทั้งหลายเป็น 3 อย่างคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ กระแสนี้ดำเนินต่อไปโดยอาการสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท 12 ข้อ นับตั้งแต่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ หรือเป็นวงล้อแห่งสังสารวัฏ ที่เกิดเป็นวงจรตามหน้าที่ 3 พวกคือกิเลส (ตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกรรม (กระบวนการกระทำและวิบาก (สภาพชีวิตที่เป็นผลจากการปรุงแต่งของกรรมเกิดเป็น กองทุกข์ปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากอดีต เข้าสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆที่เป็นหตุปัจจุบัน ที่จะทำให้เกิดผลในอนาคตต่อไปอีกเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งการจะเข้าใจสภาวะความเป็นจริงดังกล่าว พุทธธรรม มีหลักธรรมสำคัญคืออริยสัจจ์ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค โดยปฏิจจสมุปบาท  เป็นตัวกระบวนธรรมที่เป็นแกนกลางของอริยสัจจ์โดยปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร คือกระบวนการเกิดทุกข์ ส่วนปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร เป็นกระบวนการดับทุกข์
2.1.2 มัชฌิมาปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติสายกลาง เป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จคือความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ในชิวิตนี้ ในทางปฏิบัติความเป็นสายกลางนี้ เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบ อื่นๆ ของสภาพการดำรงชีวิต ของบรรชิต หรือ คฤหัสถ์ หรืออาจกล่าวได้ว่าข้อปฏิบัติสายกลางนี้เป็นจริยธรรม ที่ถือเอาผลประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจในสภาพและความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย แล้วนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตว่าควรเป็นอยู่อย่างไรนั่นเอง โดยมัฌชิมาปฏิปทาต่อเนื่องจาก มัฌเฌนธรรมเทศนา ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงปฏิปทาไว้ 2 อย่างคือ มิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้คือ
มิจฉาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ผิดหรือทางที่ผิด คือทางให้เกิดทุกข์ก็คือปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร หรือกระบวนการเกิดทุกข์ ที่เริ่มต้นจาก อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เกิดเป็นทุกข์
สัมมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ถูกหรือทางที่ถูก คือทางให้ดับทุกข์ ) ก็คือปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร หรือกระบวนการดับทุกข์ ที่เริ่มจาก ทุกข์ ศรัทธา ปราโมทย์ ปิติ ปัสสิทธิ สุข สมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ ขยญาณ เกิดการดับทุกข์
ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร
การปฏิบัติตนตามแนวทางพุทธธรรม มีหลักสำคัญคือทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)  ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะสร้างผลสำเร็จนั้น ตามความสามารถของตน และต้องกระทำด้วยตนเองด้วยความตระหนักในความรับผิดชอบของตน ด้วยหลักอัปปมาทธรรม และมีปัจจัยภายนอกตามหลักกัลยาณมิตร ที่จะมาช่วยเสริมอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจะเกิดผลสำเร็จที่แท้จริง การจะเข้าใจความหมายทางสายกลาง ต้องเข้าใจว่าชีวิตคืออะไรตามที่ท่านพระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้ในหลัก มัชเฌธรรมเทศนา อย่างลึกซึ้งก่อน แล้วหากนำไปใช้ประโยชน์นั้นจะต้องฝึกปฏิบัติพัฒนาตนเองตามแนวทางไตรสิกขา คือศีล (พฤติกรรมแสดงออกทางกายวาจา) สมาธิ (จิตใจที่เป็นเจตจำนงคุณธรรมความรู้สึกปัญญา (ความรู้ คิด หยั่งเห็น เข้าใจชัดแจ้งการฝึกตามไตรสิกขา ให้รู้แจ้งด้วยอริยสัจ ออกผลเกิดวิถีชิวิตแห่งมรรคหรือจากรู้แจ้งสภาวะตามจริงสู่การปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ คือมรรค 8 ข้อ ที่ต้องใช้เสมอคือ 1.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นหรือเข้าใจถูกต้อง)2. สัมมาวายามะ (ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง)และ3.สัมมาสมาธิ (สมาธิถูกต้อง) ทั้ง 3 องค์แห่งมรรคนี้ ถือเป็นพรหมจริยะ ทั้งนี้หัวใจสำคัญการก่อเกิดสัมมาทิฏฐิ นั้นคือปรโตโฆษะ (เสียงจากผู้อื่นหรือการเรียนรู้จากผู้อื่น)และโยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดพิจารณาหรือทำในใจโดยแยบคาย) สู่ องค์มรรคที่4.ส้มมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) ซึ่งเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งมีลำดับขั้นต้นคือสัมมาทิฏฐิโลกียะ แล้วก็จะนำไปสู่การขจัดตัณหาเกิดกุศลกรรม  หรือใช้องค์มรรที่5.สัมมากัมมันตะ(การปฏิบัติที่ถูกต้อง) 6. สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) 7.สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง)ในการปฏิบัติทางกายวาจา (ศีล)  แล้วประณีตขึ้นสู่การฝึกอบรมจิตเกิดสมาธิ และครองสติไว้ด้วยองค์แห่งมมรรคที่ 8.สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) เจริญสมาธิจนถึงระดับสูงสุดคือการมี สัมมาทิฏฐิโลกุตระ เจริญด้วยปัญญา ขจัดอวิชชาจนหลุดพ้นสังขารวัฏ สู่การบรรลุนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Right way

   เมื่อต้องเจอสภาวะ จากเหตุปัจจัยที่เป็นมิจจาปฏิปทา ผลักดันให้ทำไม่ดี ไม่งาม การเกิดปัญญา เป็นหลักธรรมที่กำกับเราให้รู้แจ้ง สิ่งดี ไม่ดี สิ...